“คัมภีร์ใบลาน 1ผูก ที่พระภิกษุสามเณร 4รูป ช่วยกันจาร”
การดำเนินการทำทะเบียนและถ่ายภาพเอกสารตัวเขียนของวัดบ้านโห้งหลวง ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก DREAMSEA ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว จำนวน 752 ผูก ซึ่งเนื้อหาส่วนมากจะเป็นคัมภีร์ใบลานที่บันทึกคำสอนทางศาสนา เช่น พระไตรปิฎก ชาดก และพระธรรม เทศนาทั่วไป จากข้อมูลที่บันทึกไว้ในส่วนต่างๆ ของคัมภีร์ใบลานที่พบที่วัดบ้านโห้งหลวงนี้ ทำให้ทราบว่า วัดบ้านโห้งหลวง เคยเป็นสำนักเรียนพระพุทธศาสนา ที่มีพระภิกษุสามเณรที่เป็นคนในชุมชนใกล้เคียงและ มาจากชุมชนอื่นๆ มาศึกษาที่วัดแห่งนี้ด้วย
การศึกษาพระพุทธศาสนาของสำนักเรียนต่างๆ ที่อยู่ในวัดนั้น นอกจากจะศึกษาและปฏิบัติตาม คำสอนของครูบาอาจารย์ในโอกาสต่างๆ แล้ว การคัดลอกคัมภีร์ใบลานก็เป็นแนวทางการศึกษาอย่างหนึ่ง เพราะก่อนที่จะคัดลอกคัมภีร์ใบลานผูกใดผูกหนึ่ง ผู้คัดลอกจะต้องอ่านเนื้อหาของคัมภีร์ใบลานผูกนั้นจนจบ เสียก่อน แล้วจึงคัดลอกไปตามต้นฉบับ เมื่อคัดลอกเสร็จแล้วก็จะต้องตรวจทานอีกรอบ หากตกหล่นหรือผิด พลาดส่วนใดก็จะจารหรือแก้ไขก่อนที่จะนำไปเทศนา หรือถวายไว้กับวัด จะแตกต่างจากการศึกษาผ่าน การอ่านหนังสือในปัจจุบัน เพราะผู้คัดลอกจะได้อ่านอย่างน้อย ๓ รอบ คืออ่านก่อนคัดลอก อ่านขณะ ที่คัดลอก และอ่านเพื่อตรวจทานก่อนนำไปถวายหรือเทศนา ถือเป็นภูมิปัญญาในการจัดการศึกษาที่น่าสนใจ ยิ่งนัก
ในอดีต การเรียนอักษรธรรมล้านนา และคัดลอกคัมภีร์ใบลานถือเป็นหลักสูตรหรือสิ่งจำเป็น ต่อพระภิกษุสามเณรทุกรูป นอกจากจะเป็นหนึ่งในการศึกษาพระพุทธศาสนาตามจารีตโบราณแล้ว ยังมีความเชื่อที่มาสนับสนุนให้มีการคัดลอกคัมภีร์ไว้ตามวัดต่างๆ คือความเชื่อเรื่องการสืบทอดอายุ พระพุทธศาสนาผ่านการคัดลอกคัมภีร์ใบลาน และเป็นการอนุเคราะห์ผู้อื่นที่อยากเป็นเจ้าภาพใน การคัดลอกคัมภีร์ใบลานอีกด้วย ซึ่งผู้คัดลอกก็จะได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน
โดยทั่วไปแล้วจะพบว่าคัมภีร์ใบลานแต่ละผูก ผู้คัดลอกมักจะเป็นบุคคลเดียวที่จารตั้งแต่ต้นจนจบ แต่พบว่าคัมภีร์ใบลานของวัดบ้านโห้งหลวงหลายผูก ที่มีผู้ช่วยกันคัดลอกมากกว่าหนึ่งคน คือมีทั้งที่คัดลอก โดยบุคคล 2 คน หรือ 3 คน และจำนวนผู้จารที่มีมากที่สุด คือ 4 คน จำนวน 2 ผูก
คัมภีร์ใบลานผูกเดียวที่มีผู้จาร จำนวน 4 คน ดังนี้
1) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “พุทธคณนา” จำนวน 1 ผูก (รหัส DS_0126_00222) รวม 47 หน้าลาน จารหน้าลานละ 5 บรรทัด จารเสร็จเมื่อ จ.ศ.1281 (พ.ศ.2462) เนื้อหาของคัมภีร์ใบลานกล่าวถึงประวัติของ พระพุทธเจ้าโคตมะ ตั้งแต่การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ และชาติปัจจุบันที่เสวยพระชาติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ที่เบื่อหน่ายในวัฏสงสาร แล้วออกบวชและบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า การเผยแพร่พุทธศาสนาในแว่นแคว้น ต่างๆ การพรรณนาลักษณะของจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง การโคจรของพระอาทิตย์และ พระจันทร์ที่ก่อ ให้เกิดวันเดือนปีต่างๆ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงสิ่งที่เป็นที่เคารพกราบไหว้หลังจาก พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ไปแล้ว คือพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในเจดีย์ต่างๆ และปิดท้ายด้วยคำสอนให้ พุทธบริษัท ๔ รู้จักหน้าที่ ของตน ให้รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนาก็จะพ้นทุกข์ และพบกับความสุขอัน สูงสุดคือบรรลุพระนิพพาน
ผู้ที่ช่วยกันคัดลอกคัมภีร์ใบลานผูกนี้เป็นพระภิกษุสามเณร จำนวน 4 รูป ประกอบด้วย พระสีวิไช พระสุริยะ สามเณรคัมภีระ และสามเณรธัมมไชย ดังข้อความที่บันทึกว่า
“สระเด็จแล้ว ณ วันเดือน 11 ดับ เม็งวันจันท์ ไทยกัดเร้า ยามตูดช้าย ก็ปริปุณณะ บรมวณกาลควรเท่านี้ก่อนแล จุฬสักกราชได้ 1281 ตัว ปีกัดเม็ด สระเด็จแล้วแล ฯ
ผู้ข้าทังหลายได้เขียนขีดแต้มนยังธัมมเทสนาดวงชื่อว่าพุทธคณนา ผูก ๑ จักทานไว้ค้ำชูสาสนาพระบรมสาสดาโคดมเจ้า ตราบต่อเท้ารอด 5000 พระวัสสา ตามอายุแห่งลานแล ฯ
ข้าพระสีวิไชย เขียนขีดแต้มทังเคล้า พระสุริยภิกขุ เขียนขีดแต้มเล่า ถัดแถมเณรคัมภิระ เขียนขีดถัดแนม เณรธัมมไชย เขียนขีดแถม ก็บอรมวณสระเด็จแล้ว ฯ
ผู้ข้าทังหลายขอหื้อได้ไปจุจอดรอดเวียงแก้วยอดมหาเนรัพพาน ขอย่าคลาดคลาจิ่มเทอะ ฯ นิพฺพาน นิจฺจํ แด่ธระวัน เขียนฟ้าวเต็มธี เจ้าเพื่อนรีบเอาแล”
จากบันทึกท้ายคัมภีร์ใบลานนี้เป็นลายมือของพระสีวิไชย ที่ระบุชื่อเรื่องของคัมภีร์ใบลานว่า “พุทธคณนา” วันเดือนปีที่คัดลอกเสร็จ คือเดือน 11 แรม 15 ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ วันกัดเร้า เวลาหลังเที่ยงวัน จุลศักราช 1281 ปีกัดเม็ด (มะเมีย สัมฤทธิศก) เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้อยู่ครบ 5000 ปี หรือตาม อายุของใบลาน โดยมีผู้ที่ช่วยกันจาร คือ พระสีวิไชย พระสุริยะ สามเณรคัมภีระ และสามเณรธัมมไชย อานิสงส์ของการคัดบอกคัมภีร์ใบลานนี้ขอให้เป็นปัจจัยนำไปสู่พระนิพพาน และตอนท้ายได้บอกว่า เป็น การคัดลอกคัมภีร์ใบลานที่เร่งรีบมาก เพราะเจ้าของคัมภีร์ใบลาน (น่าจะหมายถึงเจ้าภาพ) ต้องการด่วน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่มีผู้ช่วยกันจารหลายคน น่าเสียดายที่ไม่มีข้อมูลระบุว่าใช้เวลาในการจารทั้งหมดกี่วัน จากการสังเกตระยะเวลาในการจารใบลาน 1 ผูก (ประมาณ 20 หน้าลาน) หากเป็นผู้จารคนเดียว ส่วนมากจะ ใช้เวลาประมาณ 2 วัน
เมื่อพิจารณาลายมือที่จารในคัมภีร์ใบลานผูกนี้ สันนิษฐานว่าผู้จารคนแรก คือพระสีวิไชย ได้จารตั้งแต่ หน้าลานที่ 1 ถึงหน้าลานที่ 16 ดังภาพประกอบต่อไปนี้
โดยตั้งแต่หน้าลานที่ 17 ถึงหน้าลานที่ 23 น่าจะเป็นลายมือของพระสุริยะ ที่คัดลอกต่อจากเนื้อหาที่พระสีวิไชยจารไว้ ดังภาพประกอบต่อไปนี้
จากนั้นตั้งแต่หน้าลานที่ 24 จนถึงหน้าลานที่ 30 เป็นลายมือของสามเณรคัมภีระ ที่คัดลอกต่อจาก พระสุริยะ ดังภาพประกอบต่อไปนี้
ตั้งแต่หน้าลานที่ 31 จนถึงหน้าลานที่ 46 เป็นลายมือของสามเณรธัมมไชย แล้วลายมือในส่วนของ บันทึกท้ายเรื่อง (หน้าลานที่ 47) เป็นลายมือของพระสุริยะ (ผู้ที่เริ่มคัดลอกเป็นรูปแรก) ดังภาพประกอบต่อ ไปนี้
บันทึกท้ายเรื่องของคัมภีร์ใบลานผูกนี้ ไม่ระบุว่าพระภิกษุสามเณรที่คัดลอกนี้อยู่ที่วัดแห่งใด แต่เมื่อ ตรวจสอบรายชื่อ ช่วงเวลาที่จาร และลักษณะลายมือในการคัดลอกคัมภีร์ใบลานผูกอื่นๆ ของวัดบ้านโห้งหลวง พบว่ามีคัมภีร์ใบลานเรื่อง “ไชยทัง 7” ที่ระบุว่าจารโดยพระสีวิไชย วัดห้วยน้ำดิบ (ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัดบ้านโห้งหลวง ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร) น่าจะเป็นรูปเดียวกับพระสีวิไชย ที่คัดลอกคัมภีร์ใบลาน เรื่องพุทธคณนา ร่วมกับพระภิกษุสามเณรรูปอื่น ดังภาพเปรียบเทียบระหว่างคัมภีร์ใบลานเรื่องพุทธคณนา และภาพคัมภีร์ใบลานเรื่องไชยทัง 7 ที่ระบุชื่อผู้จารว่าคือพระสีวิไชย ดังนี้
2) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “มหาปัฏฐาน” จำนวน 1 ผูก (รหัส DS_0126_00343) 44 หน้าลาน จารหน้า ลานละ 6 บรรทัด จารเมื่อ จ.ศ.1252 ที่ข้อความท้ายใบลานระบุชัดเจนว่ามีผู้ที่ช่วยกันคัดลอกคัมภีร์ผูกนี้ 4 คน คือสามเณรอานนท์ สามเณรไชยมงคล สามเณรอุบาลี และสามเณรอโน ดังข้อความว่า “ธัมม์ผูกนี้แต้มหลายมือ แล อานนท์เขียนทังเคล้า ไชยมงคลเขียนถัด แลอุปาลีถัด แล้วอโนเขียนทังปลาย…4 มือ สามเณรทังมวลแล” โดยข้อความดังกล่าวนี้จารเส้นอักษรลงบนแผ่นใบลาน แต่ไม่ได้ลบหมึก จึงทำให้เห็นเส้นอักษรเป็นรอยจางๆ แม้จะระบุชัดเจนว่าคัมภีร์ใบลานผูกนี้มีสามเณร 4 รูป เป็นผู้จาร แต่ไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่าสามเณรแต่ละ รูปจารหน้าลานไหนบ้าง
คัมภีร์ใบลานผูกเดียวที่มีผู้จาร 3 คน พบเพียง 1 ผูก ดังนี้
คัมภีร์ใบลานเรื่อง “บัวรวงส์หงส์อามาตย์ ผูก 7” (รหัส DS_0126_00408) จารเมื่อ จ.ศ.1227 ที่ระบุมีผู้จาร 3 คน คือนารทะ ธนัญชัย และสมมณะ ดังข้อความท้ายใบลานที่ว่า “นารทะ เขียนชุใบ ธนัญไชยเขียน ๖ หน้า สมมณะเขียนสี่หน้า”
คัมภีร์ใบลานผูกเดียวที่มีผู้จาร 2 คน ดังนี้
1) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “พระญาคางคาก ผูก 3” (รหัส DS_0126_00060_042) จารเมื่อ จ.ศ.1215 ที่ข้อความท้ายใบลานที่ระบุว่ามีผู้จาร 2 รูป คือพระปัญญา เป็นผู้จารตอนต้น และพระไชยวุฑฒิ จารตอนท้าย ดังข้อความว่า “ตูข้า 2 ตนเข้ากัน ปัญญาภิกขุ อัตโนริสสนาทังเคล้าแลเจ้าเหย ไชยวุฑฒิริสสนาทังปลาย แล”แม้ว่าจะระบุว่ามีผู้ช่วยกันจาร 2 รูป แต่ไม่สามารถแยกได้ว่าแต่ละรูปจารหน้าลานใดบ้าง
2) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “สุวัณณสังข์ ผูก 4” (รหัส DS_0126_00265) จารเมื่อ จ.ศ.1248 ที่ข้อความ ท้ายใบลานระบุว่าผีผู้จาร 2 รูป คือสามเณรอินทา เป็นผู้จารตอนต้น และพระเตชะ เป็นผู้จารตอนท้าย ขณะที่ อยู่วัดบ้านโห้งหลวง ที่ครูบาสมมณะ เป็นเจ้าอาวาส ดังข้อความว่า “จุลศักราชได้ ๑๒๔๘ ตัวปีรวายเส็ดแล้ว อินทาสามเณรเขียนทังเคล้า เตชะภิกขุเขียนทังปลายตัวบ่งามหลายแลเจ้า เขียนปางเมื่อปฏิบัติสวาธุครูบา สมมณะ วัดบ้านโห้งหลวง วันนั้นแล”
3) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “พระญาคางคาก ผูก 1” (รหัส DS_0126_00268) จารเมื่อ จ.ศ.1230 ที่ข้อความท้ายใบลานระบุว่ามีผู้จาร 2 รูป คือ พระสมมณะ เป็นผู้จารตอนต้น และพระเทพิน เป็นผู้จารตอนท้าย ดังข้อความว่า “จุลศักราชได้ ๑๒๓๐ ปีเปิกสี.. สมมณะเขียนทังเคล้า เทพินเขียนทังปลาย บ่สู้งามหลายแล”
4) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “มหาวิบาก ผูก 3” (รหัส DS_0126_00276) จารเมื่อ จ.ศ.1283 ที่ข้อความท้าย ใบลานระบุว่ามีผู้จาร 2 รูป คือสามเณรธัมมไชย เป็นผู้จารตอนต้น และสามเณรมหาวัณณ์ เป็นผู้จารตอนท้าย ดังข้อความว่า “มูลสัทธาข้าพเจ้าเณรธัมมไชย เขียนทังเคล้าข้าพเจ้า เณรมหาวัน เขียนทังปลาย … เขียนปาง เมื่อปฏิบัติสวาธุเจ้ามหาวงส์ วัดสรีบุญเรืองบ้านโห้งหลวง…”
5) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “มหาวิบาก ผูก 4” (รหัส DS_0126_00277) จารเมื่อ จ.ศ.1283 ที่ข้อความท้าย ใบลานระบุว่ามีผู้จาร 2 รูป คือพระมหาวงส์ เป็นผู้จารตอนต้น และสามเณรธัมมไชย เป็นผู้จารตอนท้าย ดังข้อความว่า “ทุเจ้ามหาวงส์ เขียนทังเคล้า ข้าพเจ้าธัมมไชยสามเณร เขียนทังปลาย ตัวบ่งามสักคายแล …”
6) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “วินัยรอม ผูก 2” (รหัส DS_0126_00338) จารเมื่อ พ.ศ.2480 ที่ระบุว่ามีผู้จาร 2 คน คือหนาน (ทิด) ชู เป็นผู้จารตอนต้น และนายน้อยคง เป็นผู้จารตอนท้าย ดังข้อความว่า “ศักราชได้ ๒๔๘๐ ปีเมืองเป้า…หนานชูเขียนทังเคล้า ข้าเจ้าน้อยฅง เขียนทังปลายแล”
7) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “สุตตโสมชาดก” (รหัส DS_0126_00342) จารเมื่อ พ.ศ.2480 ที่ระบุว่ามีผู้จาร 2 คน คือสามเณรจันท์แก้ว เป็นผู้จารตอนต้น และสามเณรโยง เป็นผู้จารตอนท้าย ดังข้อความว่า “พุทธศักราช ได้ ๒๔๘๐ ตัวปีแล สามเณรจันท์แก้ว เขียนทังเคล้า ข้าพเจ้าสามเณรโยง เขียนทังปลาย ปางเมื่ออยู่ปฏิบัติสวาธุ เจ้ามหาวงส์ วัดบ้านโห้ง วันนั้นแล”
คัมภีร์ใบลานผูกเดียวที่มีผู้จารมากกว่า 1 คน ถือว่าพบได้น้อยมาก เช่น คัมภีร์ใบลานและพับสา วัดมณเฑียร ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน ที่ดำเนินการสำรวจและถ่ายภาพดิจิทัล จำนวน 802 ฉบับ พบว่าคัมภีร์ ใบลาน 2 ผูก ที่ระบุชัดเจนว่ามีผู้จารมากกว่า 1 คน คือคัมภีร์ใบลานเรื่อง “อานิสงส์บวช” (รหัส DS_0113_00046) ที่ระบุว่ามีผู้จาร 2 รูป คือ สามเณรทองคำ และพระอนุรส ดังข้อความว่า “แล้วยามกอง แลงแกล่ข้า สามเณรธองฅำแล…พระอนุรษทังปลายเจ้าเฮย…” และคัมภีร์ใบลานเรื่อง “เล้มหลวง” (รหัส DS_0113_00155) ที่พระบุญชื่น วรรณจิต ได้กล่าวไว้ในบันทึกท้ายใบลานว่า ตัวอักษรไม่สวยงาม ไม่เป็น ระเบียบ เพราะช่วยกันจารหลายคน (แต่ไม่ระบุจำนวนที่ชัดเจน) ดังนี้ “ตัวก็บ่งาม หยุ้งเตมธี เหตุช่วยกันเขียน” ส่วนคัมภีร์ใบลานของวัดบ้านโห้งหลวง ที่ได้ทำทะเบียนและถ่ายภาพดิจิทัลแล้ว จำนวน 752 ผูก แต่พบคัมภีร์ใบลานผูกเดียวที่มีผู้จารมากกว่า 1 คน จำนวนอย่างน้อย 9 ผูก ซึ่งมีจำนวนผู้ช่วยกันจารมี 2 คน 3 คน หรือ มากที่สุด 4 คน ถือเป็นความน่าสนใจประการหนึ่งของการศึกษาเอกสารตัวเขียนในแง่ของวัฒนธรรมการจารใบลาน ที่ส่วนมากคัมภีร์ใบลานแต่ละผูกจะมีผู้จารเพียงคนเดียว
Leave a Reply